วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Webquest

Webquest
       เป็นการใช้แหล่งความรู้ที่มีอยู่มากมายบนระบบอินเทอร์เน็ตมาจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยผู้สอนในรูปแบบของกิจกรรมและสมมติฐาน โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้มาบูรณาการ ฝึกนิสัยและทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กระบวนการทำงานกลุ่มและการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่างๆ บนระบบอินเทอร์เน็ต”

Webquest

1. ง่ายต่อความเข้าใจในการใช้


2. ใช้แหล่งความรู้ที่ดีและมีคุณภาพ
3. สร้างบทเรียนที่จูงใจผู้เรียน
4. ขั้นภารกิจต้องอธิบายให้ชัดเจน
5. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รู้จักการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์
6. เสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุกสนานให้แก่ผู้เรียน
7. ช่วยให้ผู้เรียนได้รู้จักใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสืบค้นข้อมูล
8. ผู้เรียนได้เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม
nattapongku.wikispaces.com



      หลายท่านคงสงสัยว่ากิจกรรม WebQuest คืออะไร WebQuest เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่ออกแบบมาให้เหมาะกับรูปแบบการเรียนการสอนบนเว็บโดยเน้นว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่ผู้เรียนใช้มาจากเว็บ จุดเด่นของการเรียนการสอนบนเว็บ คือมีฐานข้อมูลให้เสาะแสวงหาความรู้ และสามารถเรียนรู้ในรูปแบบของความร่วมมือ (Cooperative and Collaborative Learning) ได้เป็นอย่างดี WebQuest ได้รับการพัฒนาโดย Bernie Dodge และ Tom March ในปี ค.ศ. 1995 ณ. มหาวิทยาลัยซานดิเอโก (San Diego State University) และได้รับความสนใจจากนักการศึกษาจำนวนมากมายในการนำไปใช้กับบทเรียนและรายวิชาต่างๆ สามารถเน้นการแสวงหาความรู้ โดยมีฐานข้อมูลที่ผู้เรียนจะสามารถค้นหาได้จากแหล่งต่าง ๆ บนอินเตอร์เน็ต (Dodge, 1995) WebQuest เน้นการรู้จักใช้ข้อมูลสารสนเทศมากกว่าการแสวงหาข้อมูลสารสนเทศ รูปแบบของกิจกรรมเว็บเครสท์สามารถสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้โดยใช้กระบวนการคิดขั้นสูงอย่างขั้นการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินผล
         ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะการแก้ปัญหา ผู้เรียนต้องค้นหาและสร้างสรรค์ความรู้จากการแสวงหาด้วยตนเอง หรือใช้ความร่วมมือในกลุ่มของผู้เรียน ผู้เรียน จะแสวงหาความรู้ในฐานข้อมูลของ World Wide Web และจากแหล่งข้อมูลที่จัดเตรียมและเสนอแนะไว้โดยครูผู้แนะนำอย่างมีความหมาย เนื้อหาความรู้อาจอยู่ในรูปของข้อเท็จจริง หรือประเด็นข้ออภิปรายต่างๆ ทั้งนี้ ผู้เรียนจะต้องมีการแสวงหาและวิเคราะห์หาคำตอบและรู้จักประยุกต์ใช้ความรู้มากกว่าการจำเนื้อหาสาระ โดยไม่สามารถนำไปใช้ได้ เว็บเครสท์ได้รับความสนใจเพราะได้เอื้อความสะดวกโดยมีโครงสร้างและคำแนะนำให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษา หากลองค้นหาบนเว็บ คำว่า WebQuest จะปรากฏตัวอย่างขึ้นมามากมายเป็นพันๆ ตัวอย่าง ซึ่งมีทั้งตัวอย่างที่ถูกต้องตามโมเดลของเว็บเครสท์และมีมากมายที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง
เว็บเครสท์ส่งเสริมและก่อให้เกิดความคิดเชิงวิพากย์ (Critical Thinking) การเรียนรู้แบบความร่วมมือ (Cooperative Learning) และบูรณาการเอาเทคโนโลยีเข้ามาร่วม (Technology Integration)
ความคิดเชิงวิพากย์ หมายถึงความสามารถของผู้เรียนในการพิจารณาข้อมูล ความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและที่ไม่ถูกต้องเพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลที่แท้จริง (Actual Information) การเรียนรู้แบบความร่วมมือนั้น มีเว็บเครสท์หลายเว็บเครสท์ที่ออกแบบให้ผู้เรียนสามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อเกิดการเรียนรู้แบบความร่วมมือ นอกจากนี้ เว็บเครสท์ยังกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน ใช้ยุทธวิธีในการเพิ่มความสนใจของผู้เรียน ลักษณะแรกของเว็บเครสท์คือการใช้คำถามหลัก (Central Question) ซึ่งต้องหาคำตอบให้ได้ เมื่อถามผู้เรียนให้แก้ปัญหาที่ต้องเผชิญในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้เรียนกำลังเรียนรู้งานที่แท้จริง (Authentic Task) ไม่ใช่เพียงปัญหาที่ยกขึ้นมาใช้ในห้องเรียนเท่านั้น ลักษณะที่สองของเว็บเครสท์ ที่กระตุ้นความสนใจของผู้เรียน คือการใช้แหล้งข้อมูลจริงในการหาคำตอบแทนที่จะใช้วิธีการเดิมๆ เช่น ศึกษาจากหนังสือ เอ็นไซโครปิเดีย หรือแม็กกาซีนเก่าๆ นักเรียนเรียนรู้ผ่านเว็บโดยสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่าน ฐานข้อมูลที่สืบค้นได้ การรายงานที่ทันโลกทันเหตุการณ์ เว็บเครสท์ที่ดีออกแบบให้ผู้เรียนสามารถเรียนอย่างอิสระ ทำให้ผู้สอนเป็นผู้ชี้แนะช่วยเหลือผู้เรียนในการเรียนรู้มากกว่าการเป็นผู้ป้อนความรู้แต่เพียงผู้เดียว
     ขั้นตอนในการออกแบบเว็บเครสท์          มีเว็บไซท์มากมายที่เกี่ยวกับขั้นตอนการออกแบบเว็บเครสท์ (http://webquest.sdsu.edu/) ทั้งนี้บางเว็บไซท์อาจจะเก่าไป ไม่สามารถเปิดดูได้ ควรทดสอบว่ายังเป็นเว็บไซท์ที่เปิดบริการอยู่หรือไม่ การออกแบบเว็บเครสท์นั้น ไม่จำเป็นต้องรู้การเขียนโปรแกรม หรือการออกแบบหน้าเว็บเพจ การออกแบบเว็บเครสท์นั้นสามารถใช้เพียงโปรแกรม Microsoft Word และใช้ Insert Command ใน Tool Bar ด้านบน และ Insert a Hyperlink ผู้เรียนเมื่อจะเรียนรู้ผ่านเว็บเครสท์ที่ผู้สอนออกแบบไว้ ก็เพียงแต่กด Ctrl Key และคลิกบน Link ก็จะสามารถเรียนรู้ผ่านเว็บนั้นๆ ได้

ส่วนต่างๆ ของเว็บเครสท์ (Parts of a WebQuest)
         การออกแบบ WebQuest ที่ดีจะต้องทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะและผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ มีทางเลือกและแนวทางยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนที่จะหาคำตอบและแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ และเอื้อต่อการเรียนรู้แบบร่วมมือระหว่างผู้เรียน โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 7 ส่วน ดังต่อไปนี้

     1 ) ขั้นบทนำ (Introduction)
          ในขั้นนี้เป็นขั้นเตรียมผู้เรียนให้พร้อมและให้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อเข้าสู่กิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อแสวงหาคำตอบ โดยทั่วไปจะเป็นการให้สถานการณ์ และให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ในขั้นต่อๆไป ตามที่ออกแบบไว้

     2 ) ขั้นภารกิจ (Task)
         ขั้นนี้เป็นขั้นการให้งานหรือภารกิจหรือสิ่งที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนเรียนรู้ให้สำเร็จ ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดของเว็บเควสท์ ซึ่งเป็นภารกิจที่ผู้เรียนจะต้องดำเนินการตามกิจกรรมขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ได้คำตอบ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ให้เป้าหมายและจุดเน้นสำหรับผู้เรียน หากสนใจรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นภารกิจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากเว็บไซท์http://webquest.sdsu.edu/taskonomy.html

     3 ) ขั้นแหล่งข้อมูล (Information Resources)
          ขั้นนี้เป็นการให้แหล่งข้อมูลที่จำเป็นสำหรับทำภารกิจในขั้นที่สองให้สำเร็จ เป็นแหล่งข้อมูลที่มีบน World Wide Web และที่ครูผู้ชี้แนะจัดเตรียมประกอบไว้เพิ่มเติม เพื่อว่าผู้เรียนจะสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาแก้ปัญหาที่ได้รับมอบหมายให้หาคำตอบได้

     4 ) ขั้นกระบวนการ (Process)
          ขั้นนี้เป็นขั้นการชี้แนะว่าผู้เรียนจะต้องมีกระบวนการและกิจกรรมใดบ้างเพื่อให้บรรลุภารกิจที่วางไว้ โดยให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย มีกิจกรรมที่นำไปสู่ความคิดขั้นวิเคราะห์ ขั้นสังเคราะห์ และขั้นประเมินผล กิจกรรมนั้นควรที่จะเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) และกระบวนการเรียนแบบร่วมมือ (Collaborative Learning) กระบวนการเหล่านี้จะต้องแตกย่อยให้เป็นขั้นตอนที่แน่นอนชัดเจน
   5) ขั้นให้คำแนะนำ (Guidance)
       ขั้นนี้เป็นขั้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลว่าเป็นอย่างไร ในขั้นนี้อาจนำเสนอในรูปแบบของคำถามที่ต้องการให้หาคำตอบ หรือใบงานที่ต้องการให้ทำให้สมบูรณ์ นอกจากนี้ อาจเป็นตารางเวลา หรือแผนที่ ฯลฯ

   6) ขั้นประเมินผล (Evaluation)
       ในขั้นนี้ ควรกำหนดวิธีการประเมินไว้ เทคนิควิธีของเว็บเครสท์นั้น ผู้เรียนแต่ละคนอาจได้เรียนรู้เนื้อหาไม่เหมือนกันหมดทุกอย่าง ดังนั้นจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์การประเมิน (Evaluation Rublics) โดยพัฒนาตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและง่ายต่อความเข้าใจของผู้เรียน เป็นขั้นการประเมินว่าผู้เรียนสามารถหาคำตอบและบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพียงใด จะเน้นการวัดผลอย่างแท้จริง (Authentic Assessment) ซึ่งอาจเป็นในรูปของการประเมินเชิงมิติ (Rubrics) ที่มีการวางเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ชัดเจน ตัวอย่างการประเมินอย่างแท้จริง เช่น การจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ซึ่งสะสมงานทั้งหมดที่ได้จากกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน การสร้างแผนที่มโนมติ (Concept-map) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงความคิดที่หลากหลาย การเรียนรู้โดยการแก้ปัญหา (Problem based Learning) การเรียนรู้โดยอาศัยโครงงาน (Project-based Learning) ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้บน WebQuest การประเมินผลอย่างแท้จริงในสภาพจริง เป็นสิ่งที่สำคัญของการเรียนรู้ เป็นการประเมินกระบวนการ การประเมินผลการปฏิบัติงาน มากกว่าการวัดเพียงความรู้ ความจำ

   7) ขั้นสรุป (Conclusion)
       ขั้นนี้เป็นขั้นให้ผู้เรียนทำการสรุปความคิดรวบยอดที่ผู้เรียนหรือกลุ่มผู้เรียนได้ช่วยกันแสวงหาความรู้ หาคำตอบ และสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา ทั้งนี้ขั้นสรุปนี้ควรเป็นขั้นที่ทำให้ผู้เรียนตระหนักว่าเขาควรจะเรียนรู้อะไรและแม้แต่กระตุ้นให้ผู้เรียนหาความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องในด้านนั้นๆ ต่อไปอีก

Cooperative Learning และ Collaborative Learning
       หลายท่านคงสงสัยกับคำว่า Cooperative Learning และ Collaborative Learning คำว่า Cooperative Learning และ Collaborative Learning มีความหมายใกล้เคียงกันมาก บางครั้งเราสามารถใช้แทนกันได้ แต่โดยส่วนใหญ่คำว่า Collaborative Learning จะใช้กับการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งทั้ง Cooperative Learning และ Collaborative Learning จะมีข้อแตกต่างกันก็ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของบทเรียน (Pre-Structure) โครงสร้างงานหรือกิจกรรมการเรียน (Task-Structure) และโครงสร้างเนื้อหา (Content-Structure) ในขณะที่การเรียนการสอนแบบ Cooperative Learning จะมีการวางโครงสร้างพื้นฐานมาก สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมแบบมีโครงสร้างซึ่งมีคำตอบที่ค่อนข้างจำกัด และอาศัยความรู้และทักษะที่มีคำจำกัดความอย่างชัดเจน ส่วนการเรียนแบบ Collaborative Learning เป็นรูปแบบการเรียนที่มีโครงสร้างไม่มากนัก เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรืองานที่ไม่มีโครงสร้างแน่ชัดเพื่อให้ได้คำตอบที่เปิดกว้างและยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสวงหาคำตอบได้หลายทาง และต้องอาศัยความรู้และทักษะที่ไม่มีคำจำกัดความที่แน่ชัด การเรียนแบบ Cooperative Learning แบบเข้มข้นจะใช้การวางโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างงาน และโครงสร้างเนื้อหามากที่สุด แต่การเรียนแบบ Collaborative Learning จะอาศัยโครงสร้างเหล่านี้น้อยที่สุด Joung (2003) ได้ศึกษาความแตกต่างของการเรียนทั้งสองแบบ คือการเรียนแบบ Cooperative Learning ที่มีโครงสร้างสมบูรณ์ (High-Structure Cooperative : HSCP) และการเรียนแบบ Collaborative Learning ที่มีโครงสร้างไม่สมบูรณ์ (Low-Structure Collaborative: LSCL) กิจกรรมที่ใช้ไม่มีโครงสร้างมากมายเหมือนของ Cooperative Learning กล่าวคือการเรียนแบบ Collaborative Learning ที่ Joung (2003) ทำการทดลองมี แบบทดสอบก่อนเรียน (Pretest) การโต้อภิปรายออนไลน์ (Online Debate) เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และ Posttest กลุ่มตัวอย่างได้ทำการประเมิน WebQuest สามคู่ ในด้านของข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบ WebQuest คือกิจกรรมการเรียนที่อาศัยการเสาะแสวงหาคำตอบผ่านทางเว็บ และผลการวิจัยสรุปว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจระหว่างทั้งสองกลุ่ม แต่การพัฒนาเกี่ยวกับความคิดเชิงวิพากย์ และการปฏิสัมพันธ์นั้นกลุ่มการเรียนแบบ Cooperative Learning ที่มีโครงสร้างสูง (HSCP) จะมีการพัฒนามากกว่ากลุ่ม Collaborative Learning ที่มีโครงสร้างไม่มากนัก (LSCL)


การเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Learner-centered Approach)
          การเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered Approach) นั้น ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างผู้กระทำ (Active Learners) ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับฟังหรือผู้ถูกกระทำ (Passive Learners) อย่างสมัยก่อน เป้าหมายของการเรียนการสอนในสมัยใหม่คือ ผู้เรียนสามารถตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ด้วยตนเองทั้งหมด หรือมีส่วนร่วมในการตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกับครูผู้ชี้แนะ การเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนมีความสามารถในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ภารกิจที่สำคัญของผู้สอนคือ การออกแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยผู้สอนจะเน้นบทบาทในการเป็นผู้ชี้แนะหรือผู้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียน รูปแบบการเรียนการสอนแบบนี้ ได้แก่การเรียนแบบร่วมมือระหว่างผู้เรียนกันเอง การเรียนการสอนแบบร่วมมือระหว่างผู้เรียนและผู้สอน (Cooperative Learning and Collaborative learning) นอกจากนี้ยังมีการเรียนแบบโครงการ (Projected-based learning) การเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหา (Problem-based learning) เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนเหล่านี้ ล้วนสอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนแบบเว็บเควสท์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และสามารถใช้ในการประเมินการเรียนรู้ว่าผู้เรียนได้เรียนรู้อะไรบ้าง มีกระบวนการและการขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร รวมทั้งมีพัฒนาการในการเรียนรู้อย่างไรบ้าง

ที่มา http://www.gotoknow.org/posts/301312
        http://preeyas11.multiply.com/journal/item/14/14
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556

4 ความคิดเห็น:

  1. ตัวหนังสือควรมีสีเพื่อให้น่าอ่านขึ้นค่ะ

    ตอบลบ
  2. เน้นหัวข้อ ตัวหนังสือไม่เท่ากัน เนื้อหามากไปนะ

    ตอบลบ
  3. เน้นหวัข้อหลัก คับ ตัวหนังสือเล็กจนเกินไป ควรเพื่อความน่าสนใจมากกว่านี้

    ตอบลบ
  4. เนื้อหาเยอะดี แต่ตัวหนังสือเล็กอ่านแล้วปวดตา

    ตอบลบ